คอนกรีตต้านทานซัลเฟต
คุณสมบัติคอนกรีตต้านทานซัลเฟตพัฒนาขึ้นเพื่อใช้สำหรับ งานโครงสร้างที่ต้องทนทานต่อซัลเฟตโดยเฉพาะ โดยอาศัยหลักสำคัญ 2 ประการคือ
1 ออกแบบโดย ใช้ค่าอัตราส่วนน้ำต่อซีเมนต์ ต่ำกว่า 0.50 ตามมาตรฐาน ACI 201.2R Durable Concrete เพื่อให้ได้คอนกรีตที่มีการซึมผ่านของน้ำและสารเคมีต่ำ
2 เลือกใช้สัดส่วนผสมคอนกรีตที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิด secondary enttringite และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ อันเป็นผลให้เกิด แมกนีเซียมซิลิเกตไฮเดรท ซึ่งจะทำให้คอนกรีตแตกร้าวเสียหายได้ นอกเหนือจากนี้ ยังเลือกใช้วัสดุผสมคอนกรีต ที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ASTM C33 กำหนดเพื่อให้ได้คอนกรีตที่มีคุณภาพดี ตามที่ได้ออกแบบไว้
ขั้นตอนการทำงาน
คอนกรีตชนิดนี้ ถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับโครงสร้างที่สัมผัสกับสารละลายซัลเฟต เช่น งานบ่อบำบัดน้ำเสีย โครงสร้างที่ต้องสัมผัสกับดินเค็ม ค่ากำลังอัดของคอนกรีตมีให้เลือกตั้งแต่ 180-450 กก./ตร.ซม. ที่อายุ 28 วัน สำหรับค่าความยุบตัวสำหรับงานเทคอนกรีตทั่วไป 5.0-10.0 ซม. และสำหรับงานเทคอนกรีตด้วยปั๊ม 7.5-12.5 ซม
ข้อแนะนำ
1. หลีกเลี่ยงการผสมน้ำเพิ่มที่หน้างาน เพราะจะทำให้ส่วนผสมคอนกรีตเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลให้คอนกรีตเกิดการแยกตัว ขณะเทคอนกรีต เกิดปัญหาคอนกรีตเป็นฝุ่นที่ผิวหน้า เกิดปัญหาค่ากำลังอัดต่ำกว่าค่าการรับรอง ปัญหาในเรื่องความสามารถในการต้านทานซัลเฟตของคอนกรีตลดลง เนื่องจากคอนกรีตมีความทึบน้ำน้อยลง มีความพรุนเพิ่มขึ้น
2. ในระหว่างการเทคอนกรีต ควรมีการลำเลียงคอนกรีตอย่างเหมาะสม ไม่ปล่อยคอนกรีตจากที่สูงเพื่อป้องกันการแยกตัวของคอนกรีต รวมทั้งการทำคอนกรีตให้แน่นอย่างเหมาะสม เพื่อให้คอนกรีตเข้าแบบหล่อได้อย่างสมบูรณ์ เป็นเนื้อเดียวกันไม่เกิดรูพรุนเมื่อคอนกรีตแข็งตัวแล้ว ทำให้คอนกรีตมีความทึบน้ำมากขึ้น ส่งผลให้การต้านทานซัลเฟตเพิ่มขึ้น
3. หลังจากที่คอนกรีตแข็งตัวแล้ว ควรมีการบ่มคอนกรีตที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำของคอนกรีต ส่งผลให้ลดปัญหาในเรื่องของ การแตกร้าวของคอนกรีต เนื่องจากการหดตัว และทำให้การพัฒนากำลังอัดคอนกรีตเกิดได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้คอนกรีตมีความทึบน้ำมากขึ้น ส่งผลให้การต้านทานซัลเฟตเพิ่มขึ้น