โดยทั่วไปอุณหภูมิที่เหมาะสม สำหรับการทำปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างน้ำกับปูนซีเมนต์อยู่ระหว่าง 16 องศา ถึง 32 องศา หากอุณหภูมิสูงเกินกว่านี้แล้ว ถือว่าเป็นอากาศร้อนสำหรับปฏิบัติงานคอนกรีต การเทคอนกรีตในขณะอากาศร้อน เป็นปัญหาสำหรับประเทศในภูมิศาสตร์เขตร้อนอย่างประเทศไทย
ที่อุณหภูมิสูง น้ำภายในคอนกรีตเกิดการระเหยอย่างเร็วมาก ปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างน้ำกับปูนซีเมนต์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการแข็งตัวของคอนกรีตจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คอนกรีตเกิดการแตกร้าวที่ผิว การแต่งผิวหน้ายากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดรอยต่อขณะเทคอนกรีตได้ง่าย การเพิ่มปริมาณน้ำในส่วนผสมไม่ใช่วิธีที่ดีเพราะทำให้กำลังของคอนกรีตลดลง
ข้อแนะนำในการผสมคอนกรีตให้มีคุณภาพดีในขณะอากาศร้อน
1. ควรป้องกันวัสดุก่อสร้างผสมมิให้กระทบกับแสงแดดโดยตรง หรือฉีดพ่นน้ำเพื่อลดความร้อนในขณะลำเลียงวัสดุก่อสร้างเข้าสู่เครื่องผสม
2. น้ำที่ใช้ผสมคอนกรีตควรทำให้เย็น โดยการใช้น้ำแข็งผสมลงไป ช่วยลดอุณหภูมิลงได้เป็นอย่างมาก
3. พ่นน้ำบนแบบหล่อเหล็กเสริมและผิวพื้นดิน ก่อนการเทคอนกรีต เพื่อลดความร้อนให้ระเหยออกไปก่อน และช่วยป้องกันการดูดซับน้ำจากคอนกรีต
4. ควรเทคอนกรีตต่อเนื่องตลอดทั้งพื้นที่ และเทคอนกรีตต่อกับคอนกรีตที่ยังคงสภาพเหลว ห้ามเทคอนกรีตต่อกับคอนกรีตซึ่งเททิ้งไว้นานเกิน 30 นาที เพราะจะเกิดรอยต่อ อันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ขณะเทคอนกรีต
5. ตบแต่งผิวหน้าคอนกรีตโดยทันทีที่เทเสร็จ และป้องกันแสงแดดในขณะแต่งผิว
6. ทำการบ่มคอนกรีตโดยพ่นน้ำบนผิวคอนกรีต หลังจากคอนกรีตได้อายุ 24 ชั่วโมง อุณหภูมิของน้ำที่นำมาใช้บ่มไม่ควรต่างจากอุณหภูมิของคอนกรีตมากนัก เพราะอาจทำให้เกิดการแตกร้าวได้ จากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว
7. ใช้สารเคมีผสมเพิ่มประเภทสารหน่วงการแข็งตัว เพื่อยืดระยะเวลาการแข็งตัวของคอนกรีตให้นานขึ้น ซึ่งสามารถยืดระยะเวลาการทำงานจาก 45 นาที เป็น 1 ½ ชั่วโมง หรือ 2 เท่าของคอนกรีตที่ไม่ผสมน้ำยาหน่วงการแข็งตัว
จบแล้วค่ะ ไว้คราวหน้าเราจะเอาเคล็ดลับการดูแลบ้าน การสร้างบ้านมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันนะค่ะ บ้ายบาย
เครดิต หนังสือก่อสร้าง