ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจกับสารลดน้ำดังนี้
สารผสมเพิ่มแบ่งได้หลายประเภทตามมาตรฐาน ASTM C-494 ได้แก่
•ประเภท A น้ำยาลดน้ำ
•ประเภท B น้ำยายืดเวลาการก่อตัว
•ประเภท C น้ำยาเร่งการก่อตัว
•ประเภท D น้ำยาลดน้ำและยืดเวลาการก่อตัว (A+B)
•ประเภท E น้ำยาลดน้ำและเร่งเวลาการก่อตัว (A+C)
•ประเภท F น้ำยาลดน้ำจำนวนมาก
•ประเภท G น้ำยาลดน้ำจำนวนมากและยืดเวลาการก่อตัว (B+F)
ดังนั้นสารลดน้ำนั้นมีอยู่ใน 5 ประเภท คือ A D E F และ G
สำหรับประเภทที่มีคุณสมบัติในการลดน้ำเพียงอย่างเดียว (A และ F) หากใส่สารลดน้ำนี้ก็จะส่งผลให้ลดปริมาณน้ำในส่วนผสมคอนกรีตลง มีข้อดีคือทำให้กำลังอัดคอนกรีตที่แข็งตัวแล้วสูงขึ้น แต่หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปก็จะทำให้น้ำในคอนกรีตมีไม่เพียงพอในการทำปฏิกิริยาไฮเดรชั่น เกิดการแตกร้าวประเภท Autogenous ในคอนกรีตแข็งตัวแล้ว และอาจทำให้เกิดปัญหาการแตกร้าวประเภท Plastic Shrinkage ในคอนกรีตที่ยังไม่แข็งตัวในสภาวะสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง (อากาศร้อน ลมแรง) และยังทำให้คอนกรีตสดสูญเสียค่ายุบตัวย่างรวดเร็วด้วย
โดยเฉพาะประเภท F ซึ่งมีคุณสมบัติลดน้ำที่มีประสิทธิภาพสูง หากใช้ในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เนื้อคอนกรีตเหนียว เพราะปริมาณน้ำในส่วนผสมจะน้อยลงมาก ในกรณีใช้เทพื้นกลางแจ้งในสภาพอากาศร้อนจัด ผิวหน้าคอนกรีตอาจจะแห้งแต่เนื้อคอนกรีตข้างล่างยังไม่แข็งพอที่จะเริ่มทำการขัดหน้าคอนกรีต ทำให้ต้องรอจนเนื้อคอนกรีตข้างล่างเซ็ตตัวก่อน แต่เมื่อถึงเวลานั้นก็ไม่สามารถทำการขัดหน้าผิวคอนกรีตได้
สำหรับในประเทศไทยที่นิยมใช้ประเภท D และ G ในการลดน้ำซึ่งมีคุณสมบัติหน่วงการก่อตัวควบคู่ด้วยนั้น หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้คอนกรีตสดเซ็ตตัวช้า แต่กำลังอัดของคอนกรีตที่แข็งตัวแล้วจะสูงขึ้นหากในระหว่างคอนกรีตยังไม่เซ็ตตัวมิได้มีการทำให้คอนกรีตสั่นสะเทือนจนเกิด micro cracks (รอยร้าวขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) อย่างไรก็ตามหากปริมาณที่ใส่มากถึงจุดวิกฤติ (ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตและสูตรน้ำยานั้นๆ) คอนกรีตจะไม่แข็งตัว อนุภาคซีเมนต์จะถูกเคลือบด้วยสารเคมีจนไม่สามารถเกิดไฮเดรชั่น เนื้อคอนกรีตจะยุ่ยแม้เวลาผ่านไปเกินกว่า 4 วัน
สำหรับประเภท E หากใช้ในปริมาณมากเกินไป คอนกรีตสดจะสูญเสียค่ายุบตัวอย่างรวดเร็วจนอาจใช้งานไม่ทัน เพราะมีคุณสมบัติเร่งการก่อตัวควบคู่ไปกับการลดน้ำด้วย