ตามหลักแล้ว แบบบ้านมีไว้เพื่อกำหนดรายละเอียดการก่อสร้างบ้านให้ตรงกับสิ่งที่ระบุไว้ แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือ ทั้งแบบสถาปัตยกรรมและแบบโครงสร้าง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพหน้างานที่ไม่คาดคิด เช่น พบโครงสร้างใต้ดินเดิมซึ่งรื้อถอนได้ยาก หรือสภาพดินบางช่วงไม่สามารถใช้ระบบฐานรากเสาเข็มที่ออกแบบไว้ ทำให้วิศวกรต้องปรับแบบโครงสร้างใหม่ให้เหมาะสม บางครั้งขนาดหรือรูปร่างที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากโฉนด (โดยเฉพาะที่ริมน้ำซึ่งอาจถูกกัดเซาะได้) ทำให้แนวเขตที่ดินไม่ตรงกันกับแบบ อาจกระทบต่อระยะเสาหรือขนาดห้องบางห้องภายในบ้าน หรือแม้แต่กรณีที่มีต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้าน ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวชายคาในแบบหลังคาเพื่อเลี่ยงมิให้โดนต้นไม้ เป็นต้น
นอกจากนี้ การแก้ไขแบบหน้างาน อาจเกิดจากแบบก่อสร้างมีรายละเอียดน้อยเกินไป ทำให้ผู้รับเหมาเข้าใจแบบไม่ตรงกับที่ผู้ออกแบบต้องการ และมีบางกรณีที่แบบสถาปัตยกรรมไม่สัมพันธ์กับแบบวิศวกรรม เช่น ขนาดคานที่ใหญ่เกินกว่าที่สถาปนิกออกแบบไว้ ส่งผลต่อรูปด้านหรือหน้าตาของอาคาร ขนาดท่อแอร์ใหญ่จนส่งผลต่อระดับฝ้าเพดาน เป็นต้น
ภาพ: (ซ้าย) ผนังที่สร้างตามแบบบ้านเดิมมีหน้าต่างขนาดเล็ก และถูกแก้ไขภายหลัง (ขวา) ให้เป็นผนังช่องเปิดกว้างเพื่อรับแสงธรรมชาติได้เต็มที่ |
อย่างไรก็ตาม บางครั้งเจ้าของบ้านมีความจำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบ เช่น เดิมทีดูในแบบแล้วเข้าใจว่าห้องกว้างพอ แต่เมื่อเห็นหน้างานจริงแล้วรู้สึกว่าแคบไปหรือไม่พอดีกับขนาดเฟอร์นิเจอร์ที่เตรียมไว้แล้ว จึงต้องการขยายห้องให้กว้างขวางขึ้น หรือเห็นว่าห้องนอนมืดไปที่หน้างาน จึงต้องการเปลี่ยนขนาดหรือเพิ่มจำนวนหน้าต่างขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงแบบหน้างานก่อสร้างควรอยู่ภายใต้ความรับรู้และเห็นชอบร่วมกันระหว่าง เจ้าของบ้าน สถาปนิก และวิศวกร เพื่อให้มั่นใจว่าการแก้ไขแบบบ้านนั้นตรงตามความต้องการของเจ้าของบ้าน และไม่ขัดกับความเหมาะสมในการก่อสร้าง ส่วนรายละเอียดที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบบ้านในระหว่างการก่อสร้าง ผู้รับเหมาจะนำมาเขียนแบบฉบับใหม่ที่ถูกต้องตามการก่อสร้างที่แท้จริงในภายหลัง เรียกว่า แบบก่อสร้างจริง หรือ As-Built Drawing ซึ่งจะถูกเก็บรวบรวมไว้เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงงานก่อสร้าง หรือหากมีการแก้ไขหรือปรับปรุงในอนาคตก็จะอ้างอิงจากแบบบ้านชุดนี้นั่นเอง