การอัดฉีดด้วยอีพอกซีเรซิน

วิธีการซ่อมแซมโครงสร้างคอนกรีตเพื่อรับน้ำหนักได้ดังเดิม ขั้นตอนการอัดฉีดด้วยอีพอกซีเรซิน

1.วัสดุและอุปกรณ์
     สารอีพอกซีเรซิน เป็นสารซึ่งประกอบด้วยสารละลายสองชนิดขึ้นไปที่ทำปฏิกิริยาแล้วทำให้เกิดเจลหรือตะกอนแข็ง อีพอกซีเรซินเมื่อแข็งตัวแล้วจะมีกำลังรับน้ำหนักและค่าโมดูลัสสูงและยึดเกาะกับคอนกรีตเดิม
     1.1 วัสดุ ให้เลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติตามหัวข้อ สารเคมีที่ใช้ในการอัดฉีด
     1.2 อุปกรณ์ผสมสารอัดฉีด
     อุปกรณ์ผสมสารอัดฉีดโดยทั่วไป ทำด้วยวัสดุที่ไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีที่ใช้อัดฉีดหรือ สารละลายแต่ละชนิดที่ใช้ ส่วนประกอบของตัวถังสามารถเลือกใช้วัสดุอลูมิเนียม สแตนเลส หรือพลาสติกชนิดพิเศษได้ตามความเหมาะสม โดยทั่วไปความจุของถังที่ต้องการจะไม่มากนัก โดยขนาดและรูปร่างของถังจะขึ้นอยู่กับปริมาณส่วนผสมและระบบการฉีดที่ใช้ โดยทั่วไปถังที่ใช้ในการผสมอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระบบหลัก ได้แก่ ระบบผสมรวม (Batch System) ระบบผสมแบบสองถัง (Two-Tank System) และระบบ Equal-Volume Method ดูอุปกรณ์ผสมสารอัดฉีดคลิก!
      1.3 อุปกรณ์การอัดฉีด หรือเครื่องสูบ (Pump)
      เครื่องสูบที่ใช้ในการอัดฉีดมีหลายประเภท เช่น เครื่องสูบแบบ Positive-Displacement หรือ เครื่องสูบแบบลูกสูบ (Piston Pump) ดูอุปกรณ์การอัดฉีดหรือเครื่องสูบคลิก!

      1.4 อุปกรณ์ประกอบอื่นๆ 
       อุปกรณ์ประกอบส่วนใหญ่สำหรับการอัดฉีดด้วยสารเคมี เช่น โฮส (Hose) วาล์ว(Valve) ฟิตติง (Fitting) ระบบสายอัดฉีด (Piping) วาล์วโบล์วออฟ (Blow-off Relief Valve) เฮดเดอร์ (Header) และแท่งเจาะมาตรฐาน (Standard Drill Rod) สามารถใช้แบบเดียวกันทั้งการอัดฉีดด้วยอีพอกซีเรซิน และ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ โดยจุดเชื่อมต่อระหว่างเครื่องสูบ ถังผสมสารเคมี และสายหรือท่อฉีด สำหรับการอัดฉีดด้วย อีพอกซีเรซินควรจะสามารถปลดออกได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการอัดฉีดด้วยสารเคมีบางชนิดจะทำให้เกิดเจลอย่างรวดเร็ว ซึ่งในบางกรณีอาจมีความจำเป็นต้องปลดการเชื่อมต่อและถอดอุปกรณ์ออกเพื่อทำความสะอาด และควรตรวจสอบระบบการฉีดทั้งหมดก่อนที่จะอัดฉีดในแต่ละครั้งเนื่องจากวัสดุที่ใช้สร้างเครื่องสูบและอุปกรณ์ประกอบอาจมีผลกระทบกับช่วงเวลาของการเกิดเจล
       1.5 ระบบการสูบที่สามารถใช้ในการอัดฉีดด้วยสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีดังต่อไปนี้ Variable-         Volume Pump System (Proportioning System) หรือ Two-Tank Gravity-Feed System หรือ Batch system หรือ Gravity-feed system เป็นต้น ดูอุปกรณ์ประกอบอื่นๆคลิก!

2.การใช้งานและข้อจำกัด
     2.1 รอยร้าวที่จะอุดด้วยอีพอกซีเรซิน ควรกว้างระหว่าง 0.3 ถึง 3.0 มิลลิเมตร การอัดฉีดด้วยอีพอกซีเรซินสำหรับรอยร้าวที่เล็กกว่า 0.3 มิลลิเมตรหรือกว้างกว่า 3.0 มิลลิเมตรอาจทำได้ยาก (ตามมาตรฐาน USBR แนะนำให้อัดฉีดอีพอกซีเรซินสำหรับรอยร้าวที่มีความกว้างอยู่ระหว่าง 0.125 ถึง 6.25 มิลลิเมตร)
    
     2.2 เนื่องจากการมีค่าโมดูลัสการยืดหยุ่นสูง ทำให้การซ่อมด้วยอีพอกซีเรซินไม่เหมาะสำหรับการซ่อมคอนกรีตที่รอยร้าวยังมีการขยายตัว อีพอกซีเรซินที่แข็งตัวแล้วจะค่อนข้างเปราะ แต่มีกำลังยึดเหนี่ยวสูงกว่ากำลังรับแรงเฉือนและแรงดึงของคอนกรีตดังนั้นถ้าใช้อีพอกซีเรซินซ่อมรอยร้าวซึ่งคอนกรีตยังอยู่ภายใต้แรงเฉือนหรือแรงดึงที่มีค่าสูงกว่ากำลังรับน้ำหนักของคอนกรีตแล้ว อาจทำให้เกิดรอยร้าวใหม่ใกล้กับแนวที่ฉีดอีพอกซีเรซินไว้ หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าไม่ควรใช้อีพอกซีเรซิน ซ่อมรอยร้าวที่ยังเกิดไม่สมบูรณ์หรือที่กำลังขยายตัวอยู่
    
     2.3 อีพอกซีเรซินสามารถใช้ซ่อมคอนกรีตเพื่ออุดรอยรั่วของน้ำได้ แต่อีพอกซีเรซินไม่ได้แข็งตัวในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อุณหภูมิต่ำ อีพอกซีเรซินจึงไม่เหมาะกับการอุดรอยรั่วของน้ำขนาดใหญ่
    
     2.4 ข้อได้เปรียบของการใช้วิธีนี้คือสามารถใช้ในสภาวะที่มีความชื้น ช่วงเวลาการแข็งตัวที่สูง และสามารถใช้ซ่อมรอยร้าวขนาดเล็กมากได้
    
     2.5 ข้อด้อยคือจำเป็นต้องใช้ผู้ติดตั้งที่มีความชำนาญเพื่อให้ซ่อมได้อย่างมีคุณภาพ และสำหรับสารบางชนิดจำเป็นต้องระวังไม่ให้สารเคมีแข็งตัวระหว่างการทำงานนอกจากนี้สารเคมีบางชนิดยังติดไฟได้ง่ายและไม่อาจใช้ได้ในบริเวณที่อากาศไม่มีการถ่ายเท
  
     2.6 การอัดฉีดด้วยอีพอกซีเรซินไม่นิยมใช้กับการซ่อมรอยร้าวที่ตื้น

3.ขั้นตอนการซ่อม
     3.1 การเตรียมการ
          (1) การทำความสะอาดรอยร้าว หรือรอยแยกที่จะอัดฉีดด้วยอีพอกซีเรซิน ต้องสะอาดปราศจากเศษฝุ่นผง หรือสารอินทรีย์ใดๆ ให้ทำความสะอาดรอยร้าวโดยใช้ลมและน้ำแรงดันสูงอัดฉีดสลับกันหลายรอบ และต้องทำให้พื้นที่รอยร้าวที่จะอัดฉีดอีพอกซีเรซินแห้งสนิทก่อนดำเนินการต่อไป
          (2) การทำความสะอาดผิวคอนกรีตโดยรอบทำความสะอาดผิวคอนกรีตบริเวณรอยร้าวและโดยรอบของคอนกรีตที่ชำรุดอย่างทั่วถึง จากนั้นให้สำรวจพื้นที่ที่จะอัดฉีดและเตรียมช่องอัดฉีด
          (3) การเตรียมช่องอัดฉีด18(ระยะระหว่างช่องอัดฉีดที่ใช้ ต้องได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับระบบอุปกรณ์อัดฉีด ความดันที่ใช้ และสารเคมีอัดฉีดที่ใช้ ทั้งนี้ต้องสามารถเติมเต็มรอยร้าวได้อย่างทั่วถึง และให้อยู่ในดุลยพินิจของวิศวกร) อาจเตรียมช่องอัดฉีดได้ 2 ลักษณะ ได้แก่
ก. เจาะช่องอัดฉีดบนผิวคอนกรีต
กรณีรอยร้าวเห็นได้ชัดและค่อนข้างเปิด สามารถเจาะช่องอัดฉีดบนผิว คอนกรีต โดยตรงเป็นระยะตามความเหมาะสมได้ ควรระวังไม่ให้เศษฝุ่นผงไปอุดรอยร้าวขณะเจาะช่องอัดฉีด และควรใช้เครื่องเจาะแบบพิเศษที่สามารถดูดฝุ่นผงในขณะเจาะได้ พื้นผิวตามแนวรอยร้าวระหว่างรูเจาะ จะถูกยาแนวด้วยอีพอกซีเรซินและทิ้งไว้จนแห้ง
ข. เจาะช่องอัดฉีดด้านข้างรอยร้าว
การเจาะรูทางด้านข้างทั้งสองด้านของรอยร้าวให้เอียงไปทะลุตัดกับระนาบของรอยร้าว ทำให้ช่องอัดฉีดผ่านระนาบของรอยร้าวไม่ว่าระนาบของรอยร้าวจะเอียงหรือลาดเทไปในทิศทางใด จากนั้นผิวบนของรอยร้าวจะถูกยาแนวปิดด้วยอีพอกซีเรซินตลอดแนว
          (4) การทำความสะอาดรอยร้าวและช่องอัดฉีด
รอยร้าวหรือรอยแยกช่องอัดฉีด ต้องสะอาดปราศจากเศษฝุ่นผง หรือ สารอินทรีย์ใดๆ เมื่อเจาะรูเพื่อเตรียมอัดฉีดเรียบร้อยแล้วให้ทำความสะอาด รอยร้าวและช่องอัดฉีดโดยใช้ลมและน้ำแรงดันสูงอัดฉีดสลับกันหลายรอบ และต้องทำให้พื้นที่รอยร้าวที่จะอัดฉีดอีพอกซีเรซินแห้งสนิทก่อนดำเนินการ ต่อไป
    
     3.2 การอัดฉีด
            การอัดฉีดสามารถทำได้ 2 ลักษณะตามลักษณะการเตรียมช่องอัดฉีดตามข้อ3.1 (3) ดังนี้
            (1) การอัดฉีดบนผิวคอนกรีต
ใช้ในกรณีรอยร้าวเห็นได้ชัดและค่อนข้างเปิด ภายหลังจากเตรียมช่องอัดฉีดตามข้อ 3.1 (3) ก ให้อัดฉีดอีพอกซีเรซินโดยเริ่มจากรูอัดฉีดที่อยู่ต่ำที่สุดก่อนและค่อยขยับสูงขึ้นตามแนวรอยร้าวจนถึงรูอัดฉีดสูงสุด
            (2) การอัดฉีดด้านข้างรอยร้าว
ภายหลังจากเตรียมช่องอัดฉีดตามข้อ 3.1 (3) ข ให้อัดฉีดอีพอกซีเรซินโดยเริ่มจากรูอัดฉีดที่อยู่ต่ำที่สุดก่อน และค่อยขยับสูงขึ้นตามแนวรอยร้าวจนถึงรูอัดฉีดสูงสุด ควรอัดฉีดอีพอกซีเรซินด้วยแรงดันต่ำถึงปานกลาง และให้เวลาอีพอกซีเรซินไหลไปจนเต็มช่องว่างในคอนกรีต ไม่ควรอัดฉีดด้วยแรงดันสูงเพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันการไหลของอีพอกซีเรซินและทำให้ช่องว่างไม่ได้เติมเต็มอย่างสมบูรณ์

      3.3 การทำความสะอาดภายหลังการอัดฉีด
            เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการอัดฉีดแล้ว จะต้องนำท่ออัดฉีด เรซินส่วนเกิน และวัสดุอุดรอยร้าวออกจากผิวคอนกรีตให้หมด ซึ่งทำได้โดยการขูดออก ชะล้างด้วยน้ำแรงดันสูง หรือขัดออก (Grinding) และซ่อมปิดรูอัดฉีดให้เต็มด้วยปูนทรายแห้งหรือวัสดุซ่อมแซมอื่นๆ ให้เรียบร้อยและควรระบุไว้ในข้อกำหนดของงานด้วย

      3.4 การตรวจสอบความสมบูรณ์ในการอัดฉีด
ให้พิจารณาตรวจสอบกระบวนการทำงานหากพบว่ารอยร้าวที่ซ่อมไม่สมบูรณ์ ให้เจาะตัวอย่างขนาดเล็กจากคอนกรีตที่ซ่อมแล้วเพื่อตรวจสอบผล ถ้าช่องว่างในตัวอย่างที่เจาะพิสูจน์ถูกเติมเต็มด้วยอีพอกซีเรซินที่แข็งตัวดีมากกว่าร้อยละ 90 ให้ถือว่าการซ่อมแซมนั้นสมบูรณ์ ในกรณีที่ผลการเจาะแสดงให้เห็นว่าการซ่อมแซมไม่สมบูรณ์จะต้องอัดฉีดใหม่ และเจาะเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง
  
      3.5 ขั้นตอนในการอัดฉีดสามารถสรุปได้ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 ขั้นตอนการอัดฉีดด้วยอีพอกซีเรซิน
คอนกรีตผสมเสร็จ ปูนมิกซ์ ปูนผสมเสร็จ ปูนน้ำ สลั๊มปั๊ม คอนกรีตสำเร็จ ซีเมนต์ เทพื้น เทคาน ราคาถูก!!ผู้ผลิต-จำหน่าย-ขาย บริการเทคอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตสำเร็จ ปูนผสมเสร็จ ปูนมิกซ์ ปูนน้ำ ซีเมนต์ เทพื้น เทคาน หล่อเสา ปูนกันซึม คอนกรีตสลั๊มปั๊ม เข็มเจาะ แพล้นปูน บางพูน ลำลูกกา ธัญบุรี ปทุมธานี มีนบุรี ถนนนิมิตใหม่ รามอินทรา สายไหม เอกชัย พระราม2 คลองหลวง รังสิต นวนคร บางเขน นนทบุรี บางซื่อ บางขุนเทียน บางมด ตลิ่งชัน สุขุมวิท พระราม9 ปทุมวัน ลาดกระบัง นวมินทร์ บางแค บางปู สมุทรปราการ บางนา ท่าพระ ราษฏร์บูรณะ กทม.ราคาถูก รถโม่เล็ก รถโม่ใหญ่

บริการเทคอนกรีตผสมเสร็จ ปูนตราช้าง งานคุณภาพผลิตตรงจากแพล้นคอนกรีต สนใจติดต่อสั่งซื้อได้ที่ 02-181-0288 หรือ 02-181-0188 ติดต่อมือถือ 089-797-3536
Back To Top