งานคอนกรีตเสริมเหล็ก หมายรวมตั้งแต่ งานแบบหล่อ การวางเหล็กเสริม การเทและการบ่มคอนกรีต ตลอดจนการถอดแบบหล่อและค้ำยัน เพื่อที่จะได้งานที่ดีผู้ควบคุมงานจะต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอน ดูเผินๆคล้ายกับว่างานคอนกรีตเป็นงานง่าย แต่ความเป็นจริงการที่จะให้ได้คอนกรีตที่ดีจะต้องใช้วิทยาการประกอบกับประสบการณ์ทางด้านงานสนามอย่างมากโดยเฉพาะวิชาการด้านคอนกรีตวิทยายังต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมอีกมาก คอนกรีต ที่ดีในที่นี้หมายความว่า ต้องมีความข้นเหลวพอดีที่จะเทลงในแบบและสามารถไหลเข้าเต็มช่องระหว่างเหล็กเสริมได้สะดวกและเมื่อแข็งตัวแล้วต้องมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของผู้ออกแบบทุกประการ อาทิ กำลัง ความคงทน ความทนทานต่อการซาบซึมของน้ำ และการยืดหดตัว เป็นต้น
1. แบบหล่อทั่วไป
แบบหล่อคอนกรีตมีหลายชนิด ชนิดประกอบกับที่ ชนิดประกอบสำเร็จ หรือชนิดที่เคลื่อนตัวขณะเท (Slip Form) วัสดุที่ใช้ก็มีต่างๆกัน Slip Form มักจะใช้โครงเหล็กบุด้วยแผ่นเหล็ก สำหรับชนิดที่ประกอบสำเร็จจากโรงงานมักจะใช้วัสดุที่ทนทาน และเบา เช่น Fiberglass Bakelite แผ่นโลหะผสม หรือแผ่นเหล็กบุด้วยไม้อัดหรือไม้อัดล้วนๆ แล้วแต่บริษัทผู้ผลิตจะเห็นสมควร แบบหล่อสองชนิดนี้ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงในเรื่องคุณภาพของวัสดุ แต่จะต้องดูว่าแบบหล่อที่จะนำมาใช้นั้นหากเคยถูกใช้มาแล้วมีการชำรุดมากน้อยเพียงใด ถ้าชำรุดเล็กน้อยก็ให้ซ่อมเสียถ้าชำรุดมากควรให้เปลี่ยนวัสดุที่ใช้บุเสียใหม่
แบบหล่อที่ต้องให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษคือ แบบหล่อธรรมดาๆ ซึ่งประกอบขึ้นเอง ณ สถานที่ก่อสร้างเพื่อใช้สำหรับงานนั้นๆ โดยเฉพาะวัสดุที่นำไปใช้จะต้องได้รับการอนุมัติเสียก่อนเพราะมีมากมายหลายชนิด ตั้งแต่ไม้กระดาน แผ่นไม้อัด แผ่นเหล็ก วัสดุแผ่นอื่นๆ เช่น แผ่นชานอ้อยอัด แผ่นใยไม้อัด เป็นต้น แผ่นวัสดุอัดมักมีทั้งชนิดทนน้ำ และไม่ทนน้ำ บางชนิดถูกน้ำแล้วจะพอง ทำให้ผิวคอนกรีตที่ได้มีลักษณะเป็นคลื่น
ไม้คร่าวสำหรับรองรับและยึดแบบต้องไม่ห่างกันเกินไปมิฉะนั้นแบบอาจจะหย่อนได้ เหล็กแผ่นนับว่าเหมาะมากสำหรับพื้นเพราะไม่ค่อยหย่อน แต่ถ้าใช้เป็นแบบหล่อสำหรับเสาต้องระวังให้มากอาจต้องใช้แผ่นเหล็กหนากว่าแบบพื้น เพราะคร่าวที่เป็นโครงของแบบ มักจะยึดติดกับแผ่นเหล็กที่เป็นตัวแบบด้วยวิธีเชื่อม ยิ่งเชื่อมมากเท่าใดโอกาสที่แผ่นเหล็กจะบิดงอหรือโก่งก็มีมากเท่านั้น ถ้าจะใช้แผ่นเหล็กหนาขึ้นก็จะแพง ฉะนั้นก่อนที่จะยอมให้นำแบบหล่อเสาไปติดตั้งควรจะได้รับการตรวจสอบและอนุมัติเสียก่อน
การยึดแบบเสาก็สำคัญเช่นกัน เพราะเสาปกติสูงประมาณ 3-4 เมตร ย่อมมีแรงดันทางข้างของคอนกรีตกระทำต่อผนังของแบบหล่อเสาทุกด้าน แรงดันจะมากที่สุดตรงส่วนล่างของเสา หากการยึดไม่แข็งแรงพอแบบเสาอาจปริแตก หรือโป่งออกได้ทำให้เสาผิดรูปร่างไปซึ่งจะต้องแก้ไขในภายหลัง ทำให้เสียเวลาและแรงงานโดยไม่จำเป็น ผนังและครีบ ค.ส.ล. ก็ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกับเสาทุกประการ
ค้ำยันแบบหล่อและการยึดโยงก็ต้องดูแลให้ดี โดยเฉพาะสำหรับพื้นชั้นแรกที่เทเพราะมักจะวางค้ำยันบนดินโดยตรง จะมีก็เพียงไม้กระดานแผ่นเล็กๆ รองแผ่นเดียว หากทิ้งระยะเวลาไว้นานน้ำฝนหรือน้ำที่ไหลมาจากบริเวณก่อสร้างอาจทำให้ดินบริเวณนั้นแฉะ เมื่อเทคอนกรีตน้ำหนักคอนกรีตจะทำให้ค้ำยันยุบตามดิน ทำให้ส่วนของอาคาร เช่น แผ่นพื้นหรือคานโก่งตามลงมาด้วย ฉะนั้นก่อนเทคอนกรีตที่ใช้ค้ำยันวางบนดินผู้ควบคุมงานจะต้องตรวจสอบสภาพดิน
ตลอดจนความแข็งแรงของค้ำยันก่อนทุกครั้ง แม้สภาพผิวดินจะแข็งแต่หากน้ำหนักคอนกรีตของอาคารส่วนนั้นมากกว่าปกติ เช่น พื้นหนาๆ หรือคานใหญ่ ดินก็อาจรับน้ำหนักเป็นจุดของคอนกรีตนั้นไม่ไหวเหมือนกัน ในกรณีเช่นนี้ควรกระจายน้ำหนักที่จะถ่ายลงบนดินให้แผ่กระจายในบริเวณกว้างมากขึ้น หรือวิธีอื่นที่เหมาะสม
สำหรับการเทคอนกรีตองค์อาคาร เช่น เสาหรือคาน
ที่มีขนาดใหญ่มากๆ เช่น เสาขนาด 1.00 ม. x 1.00 ม. ขึ้นไป หรือคานที่กว้างเกิน 0.60 ม. ลึกเกิน 1.00 ม. เป็นต้น ก็จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเช่นเดียวกันคือเกี่ยวกับความร้อนภายในองค์อาคารคอนกรีต ข้อควรระวังและมาตรการในการป้องกันการแตกร้าวให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเทคอนกรีตฐานรากขนาดใหญ่ สำหรับคานขนาดใหญ่วิธีที่เหมาะที่สุด ได้แก่ การฝังท่อน้ำ ปล่อยให้น้ำเย็นไหลผ่านตั้งแต่เริ่มเทคอนกรีต ผสมกับการลดอุณหภูมิคอนกรีตสด
การค้ำยันทั้งด้านข้างและด้านล่างก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงให้มากสำหรับเสาสูงและใหญ่ แรงดันทางข้างของคอนกรีตสดที่กระทำต่อแบบหล่อจะสูงมาก ฉะนั้นต้องค้ำยันแบบหล่อให้แข็งแรงเป็นพิเศษมิฉะนั้นคอนกรีตอาจจะดันจนแบบหล่อป่องออกได้ ทำให้ต้องเสียเวลาสกัดทิ้งภายหลัง สำหรับคานสิ่งที่พึงระมัดระวังคือน้ำหนักตัวเอง เพราะคานขนาด 0.60 x 1.00 ม. จะหนักถึง 1440 กก./ม. หากค้ำยันแข็งแรงไม่พอที่จะรับน้ำหนักคานนั้นก็อาจพังลงมาได้
การเทคอนกรีต คานลึกมากๆ อาจแบ่งการเทเป็นชั้นๆ หรือเป็นช่วงๆ ได้เช่นเดียวกับในฐานราก รอยต่อจะต้องตั้งได้ฉากทั้งแนวตั้งและแนวนอน และเหล็กเสริมพิเศษจะต้องพอเพียงที่จะรับหน่วยแรงอันเกิดจากอุณหภูมิที่ต่างกันระหว่างคอนกรีตที่เทไปแล้วและคอนกรีตที่จะหล่อ
2. แบบหล่อสำเร็จรูป
นอกจากแบบหล่อชนิดธรรมดาๆ แล้วยังมีแบบหล่อชนิดสำเร็จรูปอีกหลายอย่าง มีชื่อเรียกต่างๆ กันตามลักษณะของการใช้งานของแบบหล่อชนิดนั้นๆ เช่น Flying Form Quick Form Tunnel Form ฯลฯ แบบหล่อสำเร็จรูปเหล่านี้จะเหมาะสมกับโครงสร้างแต่ละชนิด ผู้รับเหมาก่อสร้างจะเป็นผู้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานแต่จะต้องได้รับอนุมัติจากวิศวกรผู้รับผิดชอบก่อนทุกครั้ง
สิ่งที่ผู้ควบคุมงานจะต้องปฏิบัติก็คือ จะต้องตรวจสอบสภาพของแบบหล่อและค้ำยันให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ โดยเฉพาะแผ่นวัสดุผิว เช่น ไม้อัดซึ่งชำรุดง่าย นอกจากนั้นจะต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของระบบให้ดี อย่าให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ปลอดภัยโดยพลการโดยจะต้องศึกษาจากคำแนะนำของผู้ผลิต หรือตามแบบที่ได้รับอนุมัติแล้ว เช่น ระยะห่างระหว่างค้ำยันจะต้องไม่เกินกว่าที่กำหนด หรือผู้ผลิตกำหนดไว้ว่าจะขันเกลียวเพื่อปรับความสูงได้ไม่เกิน 300 มิลลิเมตร ก็ควรจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
3. แบบหล่อชนิดเลื่อนขณะเท (Slip Form)
อาคารที่มีผนัง ค.ส.ล. สูงๆ เช่น ไซโลหรือโรงแรมที่ใช้ผนัง ค.ส.ล. กั้นระหว่างห้องหรือผนังปล่องลิฟท์ หรือ Shear Wall สูงๆ มักใช้แบบหล่อคอนกรีตชนิดเลื่อนขณะเทเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการก่อสร้าง เนื่องจากแบบหล่อชนิดนี้มีองค์ประกอบมากมายนับตั้งแต่ตัวแบบหล่อเอง ซึ่งปกติจะเป็นแผ่นเหล็กมีโครงพิเศษโดยเฉพาะระบบแม่แรงไฮดรอลิค ซึ่งจะทำหน้าที่เลื่อนแบบหล่อขึ้นไปในขณะเทคอนกรีตตลอดจนระบบการตรวจสอบระดับแบบหล่อผู้ควบคุมงานจะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษสิ่งที่ควรจะระมัดระวังคือแบบหล่อจะต้องอยู่ในสภาพดี ไม่บุบเบี้ยวหรือชำรุด เพราะการผิดรูปเพียงเล็กน้อยจะทำให้การเคลื่อนตัวของแบบหล่อไม่สม่ำเสมอ หรืออาจครูดเอาคอนกรีตติดขึ้นไปด้วยทำให้ได้ผิวคอนกรีตที่ไม่เรียบ
ระดับ ต้องตรวจสอบระดับอยู่เสมอว่าทุกๆ จุดที่ทำเครื่องหมายไว้จะต้องอยู่ในระดับเดียวกันตลอดเวลา หากพบว่าจุดหนึ่งจุดใดมีระดับสูงหรือต่ำไปจะต้องจัดการปรับระดับจุดนั้นทันทีโดยเฉพาะก่อนเทคอนกรีต เพราะหากไม่ปรับแล้วอาจทำให้ผนังโก่งซึ่งยากแก่การแก้ไขในภายหลัง
คอนกรีต จะต้องออกแบบปฏิภาคส่วนผสมของคอนกรีตให้พอเหมาะ เพราะขณะที่เลื่อนแบบหล่อขึ้นไปนั้นคอนกรีตยังไม่ก่อตัว ฉะนั้นคอนกรีตจะต้องกระด้างพอที่จะสามารถคงตัวอยู่ได้โดยไม่เสียรูป แต่ในขณะเดียวกันจะต้องมีความสามารถไหลได้ดีพอที่จะทำให้แน่นโดยง่าย และผิวคอนกรีตจะต้องเรียบหลังจากที่แบบหล่อเลื่อนผ่านไปแล้ว ปกติผู้รับจ้างงานด้านแบบหล่อชนิดนี้จะเป็นผู้เลือกใช้ส่วนผสมเองเพราะมีประสบการณ์ด้านนี้โดยเฉพาะเหล็กเสริมพื้นและคาน
ในการใช้แบบหล่อชนิดนี้จะต้องไม่มีอุปสรรคใดๆ ในการเลื่อนตัว ฉะนั้นเหล็กเสริมในพื้นจะต้องฝังไว้ในผนังก่อน หรือมิฉะนั้นจะต้องเว้นช่องไว้เสียบเหล็กในภายหลังสำหรับคานมักจะใช้วิธีหลังคือ เว้นช่องไว้ในผนังผู้ควบคุมงานจะต้องตรวจสอบตำแหน่ง จำนวน ขนาด และระยะเรียงของเหล็กเสริมที่จะฝั่งไว้ให้ถูกต้องก่อนเทคอนกรีตแต่ละชั้น โดยจะต้องพับไว้ให้อยู่ในผนังให้หมด ทั้งนี้รวมถึงสิ่งที่ต้องฝังในผนัง เช่น ท่อต่างๆ ด้วย
ช่องเปิด ในกรณีที่มีหน้าต่าง ประตู นอกจากวิธีดังกล่าวแล้วผู้รับเหมาอาจขออนุมัติใช้ Coupling หรือวิธีเจาะผนังแล้วเสียบเหล็กโดยยึดด้วยสาร เช่น EPOXY ก็ได้ ซึ่งวิศวกรที่รับผิดชอบจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติหรือช่องเปิดอื่นๆ ในผนัง ค.ส.ล. จะต้องตรวจสอบตำแหน่งและขนาดของช่องเปิดให้ถูกต้อง เพราถ้าผิดพลาดเพียงเล็กน้อยจะแก้ไขได้ยาก เช่น อาจต้องสกัดหรือพอกคอนกรีตผนังส่วนที่ผิดพลาด นอกจากนั้นต้องตรวจสอบเหล็กเสริมพิเศษรอบช่องเปิด และเหล็กทแยงมุมให้ถูกต้องด้วย
Tag :
แบบหล่อคอนกรีต